: NOOMSAOTOURS        02-625-1555

วัดสีขาว แห่งเมืองน่าน ... วัดมิ่งเมือง

พูดถึง วัดสีขาว ทุกคนคงคิดถึง วัดร่องขุ่น จ.เชียงราย แต่ที่เมืองน่าน ก็มีวัดสีขาว ที่เป็นต้นแบบของวัดร่องขุ่น และเป็นที่ตั้งของ เสาพระหลักเมืองน่าน อีกด้วย 

     

วัดมิ่งเมือง ตั้งอยู่ที่ถนนสุริยพงศ์ ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน (ตรงข้ามโรงเรียนราชานุบาล อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน) เป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน
 
ประวัติของวัดมิ่งเมือง คือ เดิมเป็นวัดร้าง มีเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่สองคนโอบ พบที่ซากวิหาร ในราวปี 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าครองนครน่านสถาปนาวัด ใหม่ ตั้งชื่อว่า วัดมิ่งเมือง ตามชื่อที่เรียกเสาหลักเมืองว่า เสามิ่งเมือง
    
ต่อมาปี 2527 ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานทำให้อุโบสถชำรุดทรุดโทรมลง พระครูสิริธรรมภาณี (เสน่ห์ ฐานสิริ) เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมืองร่วมกับชาวบ้านคุ้มวัดมิ่งเมือง ได้ทำการรื้อถอนและสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็น แบบล้านนาร่วมสมัยแบบในปัจจุบัน พร้อมทั้งอัญเชิญพระประธานองค์เดิมมาประดิษฐานไว้ สำหรับตัวอุโบสถหลังใหม่นี้พระครูสิริธรรมภาณีเป็นผู้ออกแบบตามจินตนาการ เป็นอุโบสถล้านนาร่วมสมัย ก่อสร้างตัวอาคารด้วยฝีมือสล่าพื้นบ้านเมืองน่าน ลวดลายปูนปั้นอันวิจิตรอลังการเป็นฝีมือของสล่าเสาร์แก้ว เลาดี สกุลช่างเชียงแสนโบราณ ส่วนภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถเป็นภาพตำนานประวัติความเป็นมาของเมืองน่าน เริ่มตั้งแต่สมัยพญาภูคาเจ้าเมืองน่านองค์ปฐมตั้งอยู่เมือง ณ เมืองย่าง (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอปัว) มาจนถึงสมัยเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้าย โดยคุณสุรเดช กาละเสน จิตรกรพื้นบ้านเมืองน่าน เฉพาะงานประติมากรรมปูนปั้นใช้เวลาประมาณ 5 ปี และสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2540 ใช้เวลาสร้างรวม 12 ปี
 
    
 
และในบริเวณวัดยังเป็นที่ ประดิษฐาน เสาพระหลักเมืองน่าน  แต่เดิมเรียกว่า “เสามิ่งเมือง” หรือ หรือ "เสามิ่ง" เป็น ไม้สักทองขนาดใหญ่ มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 60 เซนติเมตร สูง ประมาณ ๓ เมตร ลักษณะเป็นเสาทรงกลมส่วนหัวเสาเกลาเป็น ดอกบัวตูมฝังไว้กับพื้นที่ดินโดยตรง ไม่มีศาลหรืออาคารครอบ แต่อย่างใด จากหลักฐานที่มีการบันทึกไว้พบว่า ได้รับการสร้างขึ้นในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 57 โปรดให้ฝังเสาประหลักเมืองน่านที่วัดมิ่งเมือง เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2331 หลังจากที่พระองค์ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ณ กรุงเทพฯ และร่วมพระราชทานพิธีฝังเสาพระหลักเมือง กรุงเทพมหานคร เมื่อปีพุทธศักราช 2129 พระองค์จึงได้คตินั้นมาฝังเสาพระหลักเมืองน่านขึ้น เหตุเพราะแต่ก่อนมานั้นเมืองน่านไม่มีคติการสร้าง เสาหลักเมือง
     

 

จนถึงในปี พ.ศ. 2506 ได้เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ กระแสแม่น้ำน่านได้ไหลเปลี่ยนทิศทาง เข้าท่วมเมืองน่านและบริเวณที่ฝังเสาหลักเมือง จนทำให้เสาหลักเมืองโค่นล้มลง ด้วยฐานของเสาหลักเมืองนั้นได้มีการผุกร่อนเนื่องจากการฝังกับพื้นดินมานานกว่าร้อยปี 


ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านคนที่ 27 ได้นำข้าราชการ และประชาชนชาวน่าน ร่วมกันสร้างเสาหลักเมืองน่านขึ้นใหม่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง โดยได้นำเอาเสาหลักเมืองเดิมมาเกลาแต่งใหม่ เสาหลักเมืองมีความสูงประมาณ 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลายลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพระพรหมพักตร์มีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา


ต่อมาในปี พ.ศ. 2515 ในขณะที่เสาหลักเมืองกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ได้โปรดฯ เสด็จมาบรรจุต้นท้าวเวสสุวรรณ จำนวน 84,000 องค์ ลงในหลุมฐานเสาหลักเมือง

 

   

และในปี พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเป็นองค์ประธานในการประกอบพิธีตั้งเสาหลักเมืองน่าน

จนมาถึงปี พ.ศ. 2548 ศาลหลักเมืองน่านได้ทรุดโทรมลงไปมาก ทางเจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง และทางราชการร่วมกับประชาชนชาวน่าน   ได้ทำการรื้อถอนศาลหลักเมืองน่านเดิมลง และร่วมใจกันสร้างศาลหลักเมืองหลังใหม่ขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ในวโรกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549 และทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามมกุฎราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงยกยอดเศียรท้าวมหาพรหมยอดศาลหลักเมืองน่าน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
 

   

 
และหากได้มีโอกาสไปเยือนเมืองน่าน ควรหาเวลาไปสักการะเสาพระหลักเมืองน่าน เพื่อเป็นศิริมงคลและคุ้มครองให้การเดินทางครั้งนี้ประสบความสำเร็จและปลอดภัยตลอดการเดินทาง 
 
โดยการสักการะเสาพระหลักเมืองน่านนั้นให้สักการะทั้ง 4 ทิศ โดยเริ่มจาก ทิศเหนือ ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันตก โดยแต่ละทิศจะมีอุดมมงคลดังนี้
 
ทิศเหนือ คือพระเมตตา มีท่านท้าวเวสสุวรรณเป็นผู้รักษา เป็นทิศมงคลด้านอำนาจ มีบารมี มีความมั่นคง มีความกล้าแข็ง เข้มแข็ง เป็นที่เคารพ เกรงขาม

ทิศตะวันออก คือพระกรุณา มีท่านท้าวธะตะรัฎฐะเป็นผู้รักษา เป็นทิศมงคลด้านเสน่ห์ เมตตา มหานิยม เป็นที่รัก เป็นที่ปราถนา และชื่นชอบของคนและเทวดา

ทิศใต้ คือพระมุทิตา มีท่านท้าววิรุฬหะกะเป็นผู้รักษา เป็นทิศมงคลด้านความมั่งคั่ง ร่ำรวย อุดมสมบูรณ์ ทั้งทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง เกียรติยศ และบริวาร

ทิศตะวันตก คือพระอุเบกขา มีท่านท้าววิรูปักษ์เป็นผู้รักษา เป็นทิศมงคลด้านความสงบ ร่มเย็นเป็นสุข มีสันติภาพ ภราดร เป็นที่เคารพ นับถือ เชื่อถือ
 
ความวิจิตรงดงามและความปราณีตของสล่าเมืองน่าน ที่ฝากฝีมือไว้ในศาลหลักเมืองและอุโบสถวัดมิ่งเมือง ที่กลายเป็นต้นแบบของวัดร่องขุ่น วัดชื่อดังของ จ.เชียงราย จะทำให้ใครหลายคน อยากกลับไปเยือนอีกครั้งแน่นอน ... TRIPWALKERS
 
 
 
 

 

DIRECTORY

FOLLOW US

บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด N.S. Travel & Tours Co.,Ltd

133/19-20 ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์ : 0 2625 1555

โทรสาร   : 0 2246 5658

อีเมล์ : info@noomsaotours.co.th

เว็บไซต์ : www.noomsaotours.co.th

(เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบริษัทหนุ่มสาวทัวร์) ติดต่อเรา

© 2024 N.S. Travel Co., Ltd. (Noom Sao Tours) All Rights Reserved.