: NOOMSAOTOURS        02-625-1555

ถ่ายรูปสวยๆกัน ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน

ถ่ายรูปสวยๆ พร้อมได้ความรู้ เกี่ยวกับประวัติ และ โบราณวัตถุชิ้นสำคัญของเมืองน่าน กันที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน

  
ภาพของซุ้มลีลาวดี ที่ขึ้นเป็นแถวเรียงราย 2 ข้างทางเดิน แผ่ขยายกิ่งก้านโค้งเข้าหากัน ดูคล้ายอุโมงค์ต้นไม้ เหมาะอย่างยิ่งที่จะมาพักผ่อนหย่อนใจ ด้วยเดินเล่นชมบรรยายากาศที่ร่มรื่น  และการเก็บภาพสวยๆ หลายๆคนอาจสงสุยว่ามันคือที่ไหนในจังหวัดน่าน วันนี้เรามีเฉลย อยู่ที่ ...บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน นั่นเอง  

ความสวยงามของซุ้มลีลาวดี ของที่นี่ มีให้เห็นในโลกโซเชียล เต็มไปหมด ความสวยงามขึ้นอยู่กับฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงหน้าแล้งที่ใบของต้นลีลาวดี นั้นร่วงหมด เหลือแต่กิ่งก้านที่โค้งเข้าหากัน กลายเป็นจุดที่นักท่องเที่ยว และคนท้องถิ่น ทุกเพศทุกวัย นิยมเข้าไปถ่ายรูป ความสวยงามของซุ้มลีลาวดีกันอย่างเนืองแน่น โดยเฉพาะช่วงเช้า และเย็น ที่แสงเหมาะแก่การถ่ายรูปเป็นอย่างยิ่ง  (อาจจะใช้เวลามากหน่อย สำหรับการถ่ายรูปที่นี่ เพราะคนเยอะจริงๆนะ)

  

แต่นอกจากความสวยงามของซุ้มลีลาวดีแล้ว เรามารู้จักความเป็นมาของ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน กันก่อนดีกว่า

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติประจำจังหวัดน่าน เดิมเป็นที่ประทับของ เจ้าผู้ครองนครน่าน เรียกว่า "หอคำ" ตั้งอยู่ใจกลางเมืองน่านใกล้กับวัดภูมินทร์ บน ถนนผากอง ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน มีพื้นที่ทั้งสิ้น 14 ไร่ 2 งาน 32 ตารางวา รายล้อมด้วยถนนที่สำคัญได้แก่ ถนนผากองด้านทิศตะวันออก ถนนสุริยพงษ์ด้านทิศใต้ และถนนมหาพรหมด้านทิศเหนือ อาคารพิพิธภัณฑ์เดิมเป็นหอคำที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ พระเจ้าน่านทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับ เมื่อพุทธศักราช 2446 เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนสองชั้น แบบตรีมุขหรือรูปตัวที รูปแบบผสมผสานอาคารแบบยุโรปซึ่งเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 ผสมผสานกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นเมืองน่าน โครงสร้างภายในเป็นไม้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีมุขออกด้านหน้า หลังคามุงด้วยไม้แป้นเกล็ด ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์เจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ผู้เป็นเจ้าของหอคำแห่งนี้ด้วย 
  
 
เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงพิราลัย เจ้านายบุตรหลานของเจ้าผู้ครองนครน่านจึงไม้มอบหอคำหลังนี้พร้อมที่ดินทั้งหมดให้แก่รัฐบาล เพื่อใช้เป็นศาลากลางจังหวัดแห่งแรกของจังหวัดน่าน
 
ปีพุทธศักราช 2475 ต่อมาเมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ก่อสร้างศาลากลางจังหวัดขึ้นใหม่ กรมศิลปากรจึงได้ขอรับมอบอาคารหอคำ เพื่อให้เป็นสถานที่จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขึ้นในปีพุทธศักราช 2517 และประกาศจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ขึ้นในปีพุทธศักราช 2528 อย่างเป็นทางการ
 
ภายหลังการจัดแสดงเสร็จสมบูรณ์แล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ให้ประชาชนเข้าชมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พุทธศักราช 2530
  
 
ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน จัดแสดง สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่านทั้ง โบราณวัตถุ ศิลปะ โบราณคดี และชาติพันธุ์ วิทยาประจำท้องถิ่นมาจัดแสดงให้ชม อย่างมีระบบและ ระเบียบสวยงาม ใช้แสงธรรมชาติเข้าช่วย ตัวอาคารโปร่งมีหน้าต่างโดยรอบ ผู้มาเที่ยวจะรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในบ้านมากกว่าพิพิธภัณฑ์ ทำให้เพลิดเพลินในการเดินชมสิ่งของที่จัดแสดง
 
ส่วนที่เป็นห้องจัด แสดงชั้นล่าง การจัดแสดงเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่และเครื่องใช้ของชนกลุ่มน้อยในเมืองน่าน รวม 5 เผ่าด้วยกัน คือ ไทยลื้อ แม้ว เย้า ถิ่น และผีตองเหลือง  เช่น ลักษณะอาคาร บ้านเรือนและเครื่องใช้ใน ชีวิตประจำวัน การทอผ้าและผ้าพื้นเมืองน่านแบบต่างๆ ที่สวยงามมาก การสาธิตงานประเพณีและความเชื่อ ต่างๆ เช่น การแข่งเรือ จุดบ้องไฟสงกรานต์ และพิธีสืบชะตา เป็นต้น 
 
 
ส่วนบริเวณห้องจัดแสดงชั้นบน เป็นการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมืองน่าน การสร้างเมือง และ โบราณสถานที่สำคัญ รูปถ่ายโบราณ งานประณีตศิลป์ เครื่องใช้ เงินตรา อาวุธ ศิลาจารึก และเครื่องถ้วยชามที่ค้นพบในเมืองน่าน
 
และสิ่งสำคัญที่สุดได้แก่ "งาช้างดำ" ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุ คู่เมืองน่าน ตามประวัติกล่าวไว้ว่าได้มาจากเมืองเชียงตุง ตั้งแต่ครั้งโบราณ เมื่อเจ้ามหาพรหมสุรธาดา เจ้าผู้ครองนครน่านองค์สุดท้ายถึงแก่พิราลัย เจ้านายบุตรหลานจึงมอบให้เป็นสมบัติของแผ่นดินพร้อม หอคอย ลักษณะของงาช้างดำนี้เป็นงาปลีเปลือกสีน้ำตาลเข้า ขนาดความยาว 97 เซนติเมตร วัดโดยรอบ 47 เซนติเมตร มีน้ำหนัก ประมาณ 18 กิโลกรัม ส่วนปลายมนมีจารึกอักษรธรรมล้านนา ภาษาไทยกำกับไว้ว่า "กิ่งนี้หนักหนึ่ง หมื่นห้าพัน" หรือประมาณ 18 กิโลกรัม
 
    
 
นอกจากนี้ ภายในบริเวณของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ยังเป็นที่ตั้งของโบราณสถานวัดน้อย หรือ วัดน้อย  วัดที่ได้ชื่อว่าเป็นวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทย
 
จากคำบอกเล่าที่สืบทอดต่อกันมาเชื่อว่า พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ เจ้าผู้ครองนครน่านองค์ที่ 63 เป็นผู้สร้างขึ้น โดยสาเหตุมาจากครั้งหนึ่งที่พระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าและกราบบังคมทูลถึงจำนวนวัด ทั้งหมดในเมืองน่านแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แต่ปรากฏว่าในกราบบังคมทูล คราวนั้นพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯได้นับ จำนวนวัด เกินไปหนึ่งวัด จึงได้ทำการสร้างวัดน้อยแห่งนี้ขึ้นมา โดยให้ช่างพื้นเมืองน่านก่อสร้างวัดตรงโคนต้นโพธิ์หน้าหอคำหรือวังที่พระองค์ประทับ  (หน้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองน่าน ในปัจจุบัน)  เพื่อให้ครบตามจำนวนที่กราบบังคมทูลไป
 
ซึ่งการเข้าเฝ้ารัชกาลที่ 5 นั้นจากหลักฐานปรากฏว่า มีเพียงครั้งเดียวคือ ในพ.ศ.2416 จึงสันนิษฐานกันว่าวัดน้อยแห่งนี้คงได้ทำการสร้างหลังจากนั้น รูปทรงของวัดเป็นวิหารก่ออิฐ ถือปูน ขนาดกว้าง 1.98 เมตร ยาว 2.34 เมตร สูง 3.35 เมตร แบบศิลปะล้านนา สกุลช่างน่าน มีพระพุทธรูปและแผงพระพิมพ์ไม้ประดิษฐานอยู่ภายใน วัดน้อยแห่งนี้ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จึงให้วัดน้อยเป็นอันซีนไทยแลนด์ (Unseen Thailand) ด้วย
  
นอกจากจะมีสถานที่ถ่ายรูปสวยๆแล้ว พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ น่าน ยังมีสิ่งอื่นๆในเราได้ศึกษาหาความรู้, สถาปัตยกรรมสวยๆ ให้เราได้ชม อีกด้วย  และ ยังอยู่ใจกลางเมืองน่าน ใกล้กับที่เที่ยวอื่นๆ อย่าง วัดภูมินทร์ วัดพระธาตุช้างค้ำ ซึ่งเราสามารถเดินเที่ยวได้อย่างสบายๆ .... TRIPWALKERS
 
DIRECTORY

FOLLOW US

บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด N.S. Travel & Tours Co.,Ltd

133/19-20 ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์ : 0 2625 1555

โทรสาร   : 0 2246 5658

อีเมล์ : info@noomsaotours.co.th

เว็บไซต์ : www.noomsaotours.co.th

(เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบริษัทหนุ่มสาวทัวร์) ติดต่อเรา

© 2024 N.S. Travel Co., Ltd. (Noom Sao Tours) All Rights Reserved.