: NOOMSAOTOURS        02-625-1555

วัดแห่งแรกเมืองอุบล...วัดหลวง

วัดหลวง จังหวัดอุบลราชธานี เป็นวัดแรกและวัดคู่บ้านคู่เมืองอุบลราชธานี ที่สร้างโดย พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองคนแรกของเมืองอุบล ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูล เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าใหญ่องค์หลวง พระแก้วไพฑูรย์ หนึ่งในพระแก้วสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี และหลวงพ่อปากดำ ภายในวัดจะมีวิหารวัดหลวง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่เลียนแบบมาจากวิหารของวัดเชียงทองที่หลวงพระบาง ประเทศลาว ซึ่งปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้ว

     
พ.ศ.2324 เมื่อเจ้าพระปทุมวรราชสุริยะวงศ์ (ท้าวคำผง) ได้อพยพมาจากดอนมดแดง มาตั้งบ้านเมืองใหม่ที่ดงอู่ผึ้ง และได้ตั้งเมืองอุบลราชธานีขึ้น และเห็นว่า ที่แห่งนี้เหมาะที่จะสร้างบ้านเมือง วัดวาอาราม เพื่อเป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง เป็นที่อยู่อาศัย สืบทอดพระพุทธศาสนา จึงให้พระสงฆ์ที่อพยพมาด้วย ลงมือก่อสร้าง โดยให้ช่างที่อพยพมาจากเวียงจันทน์ พร้อมด้วยท่านอุปฮาดราชบุตรราชวงศ์ ท่านท้าวเพี้ย กรรมการน้อยใหญ่ ร่วมสร้างด้วยความสามัคคี วัดจึงสำเร็จสวยงามสมเจตนารมณ์ สร้างโบสถ์ องค์พระประธาน กุฎิวิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร หอกลาง หอโปง หอระฆัง พร้อมบริบูรณ์ทุกอย่าง เป็นสังฆาวาสที่สวยงามมาก เมื่อสร้างเสร็จได้ตั้งนามว่า พระเจ้าใหญ่วัดหลวง นามนี้เรียกว่า "วัดหลวง" ซึ่งถือว่าเป็นวัดแรกของเมืองอุบลราชธานี และถือได้ว่าเป็นวัดประจำเจ้าเมืองอุบลราชธานีคนแรก นั้นก็คือ ท้าวคำผง นั้นเอง
    
- พระเจ้าใหญ่องค์หลวง สร้างโดยพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าครอบครองเมืองอุบลราช-ธานีองค์แรก ได้ให้ช่างชาวเวียงจันทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2324 เพื่อเป็นพระประธานประจำตัววัดหลวงประดิษฐานอยู่ในวิหารพระเจ้าใหญ่องค์หลวง (ศาลาการเปรียญ) เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นที่พึ่งทางใจของชาวเมืองอุบลราชธานีและเป็นพระพุทธรูปองค์แรกของเมืองอุบลราชธานี นานกว่า 223 ปีมาแล้ว 
พระเจ้าใหญ่องค์หลวง มีขนาดหน้าตักกว้าง 3 เมตร พุทธลักษณะปางเรือนแก้ว พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบในซุ้มเรือนแก้ว พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้พระธรณี พุทธตำนานอธิบายความไว้ว่า ในสัปดาห์ที่ 4 หลังตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จจากรัตนจงกรมเจดีย์ไปประทับในเรือนแก้ว (รัตนคฤห) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเทพยดาเนรมิตถวาย เพื่อทรงพิจารณาพุทธธรรม ในกำหนด 7 วัน จนบังเกิดเป็นประภาวลี (รัศมีที่แผ่ออกจากกายสำหรับบุคคลมีบุญญาธิการ หรือพระพุทธรูป) สถานที่ดังกล่าวจึงมีชื่อ “รัตนฆรเจดีย์” พระพุทธรูปปางนี้เป็นพระพุทธรูปประจำเดือน 7
 
 
- พระแก้วไพฑูรย์ หนึ่งในพระแก้วสำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี พุทธลักษณะปางสมาธิ พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ทั้งสองวางหงายซ้อนทับกันบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางลงบนพระหัตถ์ซ้าย เป็นพระแก้วที่สร้างจากหินใสธรรมชาติที่มีอายุหลายร้อยปี ช่างแกะหินใสองค์นี้ไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ แต่จากหลักฐานและคำบอกเล่าทราบว่า พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ในการปกครองของเจ้านายเมืองอุบลมานานตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของพระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) ถวายเป็นสมบัติของวัดหลวงคู่กับพระแก้วบุษราคัม เมื่อเจ้านายทางกรุงเทพฯ มาปกครองเมืองอุบลฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4 เจ้านายพื้นเมืองอุบล เกรงว่าเจ้านายจะบังคับเอาพระแก้วทั้งสองไปเป็นสมบัติส่วนตัวจึงได้นำเอาพระแก้วทั้งสององค์แยกออกจากกันไปซ่อนไว้โดยมิดชิดไม่ยอมแพร่พรายให้ใครรู้
ต่อมาเมื่อสร้างวัดศรีทองหรือวัดศรีอุบลรัตนาราม เจ้าอุปฮาดโท บิดาของพระอุบลเดชประชารักษ์ (เสือ ณ อุบล) จึงได้ไปอัญเชิญพระแก้วทั้งสององค์ออกมาจากที่ซ่อน โดยนำพระแก้วบุษราคัมไปถวายให้แด่พระคุณเทวธัมมี (ม้าว) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดศรีทอง และเป็นสัทธิวิหาริกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 มาจากกรุงเทพฯ คงมีความเกรงใจ จึงไม่กล้าที่จะขอเอาพระแก้วบุษราคัม และพระแก้วไพฑูรย์ไปจากเมืองอุบลราชธานี
ส่วนพระแก้วไพฑูรย์นั้น ทายาทของเจ้านายพื้นเมืองอุบลราชธานี นำไปเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติล้ำค่าของบรรพบุรุษ ต่อมาภายหลังได้นำมาถวายแต่พระครูวิลาสกิจจาทร เจ้าอาวาสวัดหลวง จึงกลายเป็นสมบัติของวัดหลวง และประดิษฐานไว้ ณ วัดหลวง ตราบมาจนปัจจุบัน จึงนับได้ว่า พระแก้วไพฑูรย์องค์นี้ เป็นสมบัติของวัดหลวงและเจ้าเมืองอุบลราชธานีมาตั้งแต่สมัยโบราณโดยแท้
พระแก้วไพฑูรย์ เป็นหนึ่งในแก้วอันเป็นรัตนชาติ ลักษณะของเนื้อองค์พระจะสีใสขุ่น หากยกองค์พระแล้วส่องดูใต้ฐานจะมองเห็นคล้ายสายฝนหยดลงมาจากฟ้า อันเป็นนิมิตแห่งความอุดมสมบูรณ์ ฝนตกต้องตามฤดูกาล นับเป็นสมบัติล้ำค่าที่คู่ควรแก่การรักษาไว้ เพื่อเป็นมรดกให้แก่ชาวเมืองอุบล สืบต่อไปนานเท่านาน
    
- หลวงพ่อปากดำ หรือ พระเจ้าใหญ่่ปากดำ เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน พระอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิราบ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางคว่ำบนพระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้พระธรณี พุทธลักษณะเป็นแบบพุทธศิลปะลาว มีพระรัศมียาว ประดับด้วยพลอยสี ยอดปลายเป็นผลึกแก้วใส เปล่งประกายสะท้อนแสงสวยงามเมื่อยามต้องแสง
ไม่มีหลักฐานใดปรากฏชี้ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้สร้าง แต่จากคำบอกเล่าทราบว่า เป็นพระพุทธรูปที่อยู่คู่กับวัดหลวงมาตั้งแต่สร้าง มีข้อสันนิษฐานที่มีความเป็นไปได้ว่า พระพุทธรูปองค์นี้ได้นำมาจากเมืองเวียงจันทน์ หรือเมืองจำปาสัก ดูลักษณะน่าจะเป็นสกุลช่างเวียงจันทน์ หรือจำปาสัก ปกติแล้วจะประดิษฐานไว้ที่กุฏิอนุสรณ์พระปทุมวรราชสุริยวงศ์  
ลักษณะพิเศษที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน คือ การเปลี่ยนสีของเนื้อทองสำริดเฉพาะบริเวณริมฝีปากเท่านั้น กลายเป็นสีแดงน้ำหมาก ดูคล้ายสีดำ เมื่อเวลานานๆไป จึงเป็นที่มาของชื่อ หลวงพ่อปากดำ หรือ พระเจ้าใหญ่่ปากดำ
    
ในปัจจุบัน ได้มีการสร้างองค์จำลองของหลวงพ่อปากดำ เพื่อเป็นพระประธานในอุโบสถหลังใหม่่ มีขนาดหน้าตักกว้าง 109 นิ้ว สูง 5.90 เมตร และได้อันเชิญองค์จริงมาประดิษฐานในพระอุโบสถ บริเวณด้านบนขององค์จำลองด้วย
      
     
นอกจากนี้ภายในวัด ยังมีอนุสารีย์ของ พระประทุมวรราชสุริยวงศ์ (เจ้าคำผง) เจ้าเมืองคนแรกของอุบลราชธานีและผู้สร้างวัดหลวง ให้ประชาชน ได้กราบไหว้ สักการะกันด้วย และ เนื่องจากวัดอยู่ติดกับแม่น้ำมูล บริเวณทางลงไปยังแม่น้ำ ยังมีบันไดนาค ที่สวยงาม เหมาะกับการเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ แถมยังใกล้ตลาดอีกด้วย ... TRIPWALKERS
 
 
 
DIRECTORY

FOLLOW US

บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด N.S. Travel & Tours Co.,Ltd

133/19-20 ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์ : 0 2625 1555

โทรสาร   : 0 2246 5658

อีเมล์ : info@noomsaotours.co.th

เว็บไซต์ : www.noomsaotours.co.th

(เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบริษัทหนุ่มสาวทัวร์) ติดต่อเรา

© 2024 N.S. Travel Co., Ltd. (Noom Sao Tours) All Rights Reserved.